สาเหตุ
ไหล่หลุดเกิดจากอุบัติเหตุต่อข้อไหล่ที่มีความรุนแรง ทำให้ปลอกหุ้มข้อไหล่และหมอนรองข้อไหล่ฉีกขาด
หลังจากนั้นอาจจะมีข้อหลุดตามมาได้อีกหลายครั้ง โดยการหลุดซ้ำครั้งที่สองของข้อไหล่จะเกิดได้ง่ายกว่าครั้งแรก
อาการ
เมื่อไหล่หลุด จะมีอาการปวดรุนแรง ขยับแขนไม่ได้
รูปร่างของหัวไหล่จะดูผิดรูปไป อาจคลำได้หัวกระดูกต้นแขนเป็นก้อนกลมอยู่ด้านหน้าของหัวไหล่
การหลุดซ้ำครั้งที่สอง อาจจะเกิดจากกิจกรรมที่ไม่รุนแรง เช่น ไหล่หลุดขณะเอื้อมหยิบของ ขว้างสิ่งของ หรือ ไอจามแรงๆ ก็อาจทำให้ไหล่หลุดได้
การดำเนินโรค
ข้อไหล่ที่มีการหลุดซ้ำหลายครั้ง จะทำให้เกิดการสึกกร่อนของกระดูก ซึ่งส่งผลให้เกิดการหลุดได้ง่ายมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าไม่รีบทำการรักษาโดยการเย็บซ่อมปลอกหุ้มข้อแต่เนิ่นๆ แล้วปล่อยให้กระดูกสึกกร่อนไปมาก ก็จะต้องมีการผ่าตัดย้ายกระดูกจากส่วนอื่นเพื่อมาเสริมความแข็งแรงของเบ้าไหล่
เพราะฉะนั้นเมื่อมีการหลุดซ้ำมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดส่องกล้อง
การรักษา
ผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic Bankart repair) เพื่อเย็บซ่อมปลอกหุ้มข้อและหมอนรองข้อไหล่ที่ฉีกขาด โดยใช้สมอกับไหมเย็บชนิดพิเศษ
การผ่าตัดแก้ภาวะไหล่หลุดซ้ำเป็นการผ่าตัดข้อไหล่โดยใช้กล้องขนาดเล็ก 4 มิลลิเมตรและเครื่องมือพิเศษขนาดเล็ก
แผลเจาะรูจะยาว 1 เซนติเมตร ทั้งหมด 3 แผล
แพทย์จะทำการเย็บหมอนรองข้อไหล่และปลอกหุ้มข้อ ให้มีความตึงขึ้น เพื่อลดโอกาสการหลุดของไหล่
ผลที่ได้รับจากการผ่าตัด คือ ข้อไหล่มีความมั่นคง และ ไหล่จะไม่เคลื่อนหลุดอีก
ผู้ป่วยสามารถกลับไปเล่นกีฬาที่ต้องใช้แขนได้ เช่นแบดมินตัน บาสเก็ตบอล หรือว่ายน้ำ
ผู้ที่ไหล่หลุดมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางด้านข้อไหล่
เพื่อทำการผ่าตัดส่องกล้องแก้ไขตั้งแต่ระยะแรก
เพราะการปล่อยให้ไหล่หลุดหลายครั้ง จะส่งผลให้กระดูกเบ้าไหล่มีการแตกหักและสึกหรอไปเรื่อยๆ
จนในที่สุดอาจทำให้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการส่องกล้องแบบแผลเล็ก
หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องใส่ที่คล้องแขนเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อรอให้เนื้อเยื่อสมานกัน
ระยะเวลาที่จะกลับไปเล่นกีฬาอยู่ที่ประมาณ 3-6 เดือนหลังผ่าตัด
นพ.ไตร พรหมแสง
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ