Last updated: 5 พ.ย. 2567 | 38705 จำนวนผู้เข้าชม |
สาเหตุ
อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
1. เอ็นไหล่ขาดเกิดจากความเสื่อมของเส้นเอ็นตามอายุที่มากขึ้น ส่วนใหญ่พบในคนไข้อายุ 50 ปีขึ้นไป
2. เอ็นไหล่ขาดเกิดจากอุบัติเหตุ เช่นการหกล้ม หรือการเหวี่ยงสะบัดแขนแรงๆ
3. เอ็นไหล่ขาดจากการกดทับของกระดูกอะโครเมียน ทำให้เกิดการเสียดสีกันระหว่างกระดูกและเส้นเอ็นไหล่
อาการ
ถ้าเอ็นไหล่ฉีกขาด จะส่งผลให้เกิดอาการปวดไหล่ด้านหน้าและด้านข้าง อาการปวดไหล่อาจร้าวลงมาที่ต้นแขน มักจะปวดไหล่มากเวลานอนตะแคงทับ
ถ้ารอยขาดมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยจะยกแขนไม่ขึ้น
กำลังแขนอ่อนแรงเนื่องจากกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ฝ่อตัว
การดำเนินโรค
เส้นเอ็นไหล่เมื่อฉีกขาดแล้วจะไม่สมานกันเองตามธรรมชาติ
ขนาดของรอยขาดจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป
ถ้าปล่อยทิ้งไว้ เส้นเอ็นที่ขาดจะหดตัวและไม่สามารถเย็บซ่อมได้อีก ซึ่งอาจทำให้มีข้อไหล่เสื่อมตามมาในอนาคต
การวินิจฉัย ต้องทำการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
การรักษา
การผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic rotator cuff repair) เพื่อเย็บซ่อมเส้นเอ็นไหล่ที่ฉีกขาดโดยใช้สมอกับไหมเย็บชนิดพิเศษ
เป็นการผ่าตัดข้อไหล่โดยใช้กล้องขนาดเล็ก 4 มิลลิเมตรและเครื่องมือพิเศษขนาดเล็ก
แผลเจาะรูจะยาว 1 เซนติเมตร ทั้งหมด 4 แผล
ผลที่ได้รับจากการผ่าตัด คือ อาการปวดในข้อไหล่จะลดลง และยกแขนได้ดีขึ้น
ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประวันได้ตามปกติ สามารถหิ้วของได้ หวีผมได้ เอามือจับหลังตนเองได้
อาการปวดตอนนอนจะน้อยลง ผู้ป่วยจะนอนหลับได้ดีขึ้น
หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องใส่ที่คล้องแขนเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อรอให้เส้นเอ็นสมานกัน
โดยทั่วไปอัตราการสมานกันของเส้นเอ็นอยู่ที่ 80-90% ขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัดและสภาพของเส้นเอ็นที่ขาด
ระยะเวลาที่อาการเจ็บจะหายสนิทอยู่ที่ประมาณ 4-5 เดือนหลังผ่าตัด
อย่างไรก็ตาม การทำกายภาพบำบัดเพื่อป้องกันภาวะไหล่ติดหลังผ่าตัด ก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน
นพ.ไตร พรหมแสง
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ด้านการผ่าตัดข้อไหล่
24 มี.ค. 2561